ฮีทสโตรก โรคลมแดด ภัยร้ายหน้าร้อน อันตรายถึงชีวิต
หน้าร้อนมาเยือนแล้ว! ซัมเมอร์นี้อากาศร้อนไม่เกรงใจใคร แดดแรงแบบนี้ต้องระวัง “ฮีทสโตรก” ให้ดี ภัยร้ายช่วงหน้าร้อนที่พร้อมจะเล่นงานเราตลอดเวลา บอกเลยว่าหากไม่รีบป้องกัน และระวัง อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ วันนี้ รมย์รวินท์คลินิก จะพามาให้ความรู้เกี่ยวกับฮีทสโตรก หรือโรคลมแดดว่า คืออะไร? มีสัญญาณเตือนอย่างไร? และมีวิธีป้องกันอะไรบ้าง? เพื่อเตรียมพร้อมดูแลตนเองให้ห่างไกลจากฮีทสโตรก

ฮีทสโตรก โรคลมแดด หน้าร้อนต้องระวัง มีอาการอะไรบ้าง?
ฮีทสโตรก โรคลมแดด คืออะไร?
ฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โรคลมแดด คือ ภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับความร้อนสูงเกินไป มากกว่า 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป จนระบบควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกายล้มเหลว หรือไม่สามารถปรับตัวได้ตามปกติ ทำให้เกิดความร้อนสะสมสูงขึ้นเรื่อย ๆ และส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหมดสติ ชัก หายใจเร็ว และอันตรายถึงชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดฮีทสโตรก โรคลมแดด
- สภาพอากาศร้อนจัด
การอยู่ในสถานที่ที่มีสภาพอากาศร้อนจัด มีอุณหภูมิ และความชื้นสูงเป็นเวลานาน อาจทำให้ร่างกายมีความร้อนสูงขึ้นอย่างกะทันหัน จนส่งผลให้เกิดฮีทสโตรกได้
- เด็ก และผู้สูงอายุ
เด็ก และผู้สูงอายุ มีความเสี่ยงที่จะเกิดฮีทสโตรกง่ายกว่าคนทั่ว ๆ ไป เนื่องจากระบบการควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกายไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่
- มีโรคประจำตัว
ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคไต โรคเบาหวาน หรือโรคความดันโลหิตสูง ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดฮีทสโตรกมากกว่าคนทั่ว ๆ ไปเช่นกัน
- ร่างกายขาดน้ำ
การขาดน้ำ หรือดื่มน้ำไม่เพียงพอ ในช่วงที่ร่างกายต้องเผชิญกับความร้อนจัด อาจทำให้ไม่สามารถระบายความร้อนออกมาได้อย่างเต็มที่ จนเสี่ยงต่อการเกิดฮีทสโตรกได้
- ออกกำลังกายหนักในอากาศร้อน
การออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่ใช้แรงมากในสภาพอากาศที่ร้อนจัด เช่น เล่นฟุตบอล วิ่งมาราธอน ซึ่งอาจทำให้ร่างกายมีความร้อนมากเกินไป จนไม่สามารถระบายออกได้
- ดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มแอลกอฮอล์ อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำ และเกลือแร่ รวมถึง ยังทำให้หัวใจทำงานหนัก และเลือดสูบฉีดเร็ว จนรบกวนการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดฮีทสโตรกได้
- ใส่เสื้อผ้ารัดแน่น
การสวมใส่เสื้อผ้าหนา และรัดแน่นจนเกินไป อาจทำให้ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกมาได้มากพอ ซึ่งมีความเสี่ยงในการเกิดฮีทสโตรกได้
สัญญาณเตือนฮีทสโตรก โรคลมแดด มีอาการอย่างไร?
สัญญาณเตือนของฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม หากปล่อยไว้นาน โดยไม่รีบทำการช่วยเหลือ อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยอาการที่พบบ่อย มีดังนี้
- ตัวร้อนจัด หรืออุณหภูมิในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส
- วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด มึนงง
- สับสน หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย
- พูดช้า พูดไม่รู้เรื่อง จำอะไรไม่ค่อยได้
- หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ หายใจถี่
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ผิวหนังแดง ร้อน และแห้ง
- อ่อนเพลีย หมดแรง เป็นลม
- กระหายน้ำมาก
- ในกรณีรุนแรง อาจเกิดอาการชัด หรือหมดสติ
หากพบว่ามีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น ควรทำการช่วยเหลือเบื้องต้นในทันที โดยการเข้าไปอยู่ในที่ร่ม และมีอากาศถ่ายเท รวมถึง พยายามดื่มน้ำให้มาก ๆ จากนั้น รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
รวมวิธีป้องกันฮีทสโตรก โรคลมแดด
การเกิดฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด สามารถป้องกันได้ โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อนที่มีอุณหภูมิสูง ดังนี้
- ดื่มน้ำให้มากขึ้น
ในช่วงหน้าร้อน พยายามดื่มน้ำให้มาก ๆ และจิบน้ำบ่อย ๆ อย่างน้อย 6 – 8 แก้วต่อวัน โดยเฉพาะช่วงที่ออกกำลังกาย และทำกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อป้องกันการขาดน้ำ
- หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีอากาศร้อนจัด
ในช่วงหน้าร้อน พยายามหลีกเลี่ยงบริเวณกลางแจ้ง หรืออยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน โดยเฉพาะช่วงเวลา 10.00 – 16.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่มีแดดแรง แนะนำให้อยู่ในที่ร่ม และเปิดแอร์แทน
- ใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี
ในช่วงหน้าร้อน แนะนำให้สวมใส่เสื้อผ้าที่สามารถระบายความได้ดี โดยเลือกผ้าที่บางเบา สีอ่อน ไม่หนา และรัดแน่นจนเกินไป เพื่อให้ร่างกายสามารถระเหยเหงื่อได้อย่างเต็มที่
- ใช้ครีมกันแดดที่มี SPF 15 ขึ้นไป
ในช่วงหน้าร้อน แนะนำให้ปกป้องผิวจากแสงแดด โดยการใช้ครีมกันแดดที่มี SPF 15 ขึ้นไป รวมถึง สวมหมวก และกางร่มเมื่อต้องออกไปกลางแจ้ง
- พักผ่อนให้เพียงพอ
ในช่วงหน้าร้อน แนะนำให้นอนหลับ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายสามารถฟื้นตัว และระบบต่างๆ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ดูแลกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ
ในช่วงหน้าร้อน ควรดูแลกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยแนะนำให้อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเท และดื่มน้ำให้มาก ๆ
- ไม่ควรปล่อยสัตว์เลี้ยง และเด็กทิ้งไว้ในรถ
ในช่วงหน้าร้อน ไม่ควรปล่อยสัตว์เลี้ยง และเด็กเล็กทิ้งไว้ในรถที่จอดในสถานที่ที่ร้อนจัด เนื่องจากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
ในช่วงหน้าร้อน พยายามหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เพื่อป้องกันร่างกายสูญเสียน้ำ
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักในที่ร้อนจัด
ในช่วงหน้าร้อน พยายามหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมหนัก ๆ ในสภาพอากาศที่ร้อนจัด หากต้องการออกกำลังกาย แนะนำให้เลือกเป็นช่วงเช้า หรือช่วงเย็นแทน รวมถึง ดื่มน้ำให้มาก ๆ ระหว่างทำกิจกรรม
- หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ
ในช่วงหน้าร้อน แนะนำให้หมั่นสังเกตอาการของตนเอง และผู้อื่น หากพบว่ามีอาการตัวร้อน วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด คลื่นไส้ อาเจียน หงุดหงิด หรืออ่อนเพลีย ควรรีบลดอุณหภูมิ และพบแพทย์ทันที
ภาวะฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด ถือเป็นภัยร้ายอันตรายในช่วงหน้าร้อนที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป จนทำให้ระบบต่าง ๆ ทำงานผิดปกติ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะหมดสติ หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากไม่รีบทำการรักษาในทันที ดังนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดฮีทสโตรก จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก โดยการหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีสภาพอากาศร้อนจัด และกิจกรรมกลางแจ้ง รวมถึง พยายามดื่มน้ำให้เพียงพอ และสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะอันตรายในอนาคต